ค้นหาด้วย Keyword
หมวดอักษร | คำศัพท์ | คำอ่าน | ภาษาต้นตอ | คำสะกด |
---|---|---|---|---|
J | Jingles | จิ๊งกลส | (อังกฤษ) | จิงเกิลส์ |
คำอธิบายลูกกระพรวน เครื่องดนตรีสกุลเครื่องกระทบ ใช้เขย่าให้ลูกกลิ้งจำนวนหนึ่งที่บรรจุอยู่ในปากของเครื่องกระทบกับผนังกลวงรูปทรงกลมเกิดเสียงดังกุ๋งกิ๋ง เมื่อใช้ผูกคอม้าเทียมเกวียนสเล จะเรียกว่าสเลเบลส์ (Sleigh bells)ของไทยมีหลายขนาดแต่ละขนาดใช้ในโอกาสต่างกัน เช่น ขนาดใหญ่ใช้ผูกคอวัวควาย ขนาดจิ๋วใช้ผูกคอแมว เป็นต้น |
หมวดอักษร | คำศัพท์ | คำอ่าน | ภาษาต้นตอ | คำสะกด |
---|---|---|---|---|
J | Jig | จีก | (ฝรั่งเศส) | จีก |
คำอธิบายเหมือนกันกับ Gigue (ฝรั่งเศส) เพลงเต้นรำที่เป็นส่วนของเพลงสวีต(Suite)เกิดในประเทศอังกฤษเป็นที่นิยมในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ใช้อัตราจังหวะสาม(3/4) และอัตราจังหวะสอง(2/4) ประสมในลีลารวดเร็ว มีตัวโน้ตประจุดจำนวนมาก |
หมวดอักษร | คำศัพท์ | คำอ่าน | ภาษาต้นตอ | คำสะกด |
---|---|---|---|---|
J | Jazz styles | จ๊าซ สตายลส | (อังกฤษ) | จ๊าซ สตายลส |
คำอธิบายกระบวนแบบของดนตรีแจ๊ส มี 7 กระบวนแบบ คือ: 1.กระบวนแบบนิวออร์ลีนส์(New Orleans Style) ต้นตำรับเกิดที่ตำบลสตอรีวิลล์ เมืองนิวออร์ลีนส์ รัฐหลุยเซียนา ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยนักดนตรีอเมริกันผิวดำ เมื่อปี ค.ศ. 1890 ประสมวงด้วยคอร์เน็ตหรือทรัมเป็ต 1 ตัวใช้เล่นด้นทำนองหลักในเพลงที่มีสำเนียงเพลงป็อปปิวลาร์แบบอเมริกัน คลาริเน็ต 1 ตัวใช้เล่นด้นแนวเสียงประสานในระดับเสียงสูงกว่าทำนองหลักและลงจังหวะแบบขัด ทร็อมโบน 1 ตัวใช้ด้นเสียงประสานแนวต่ำ และเครื่องกระทบที่รวมเอาเบสดรัม สแนร์ดรัมและฉาบมาร่วมเคาะจังหวะแบบขัดนักดนตรีคนสำคัญของดนตรีแจ๊สกระบวนแบบนี้คือ หลุยส์ อาร์มสตรอง (Luise Armstrong 1900-1971) ผู้นิพนธ์และขับร้องเพลง What a Wonderful World !และ Only You อันเป็นเพลงอมตะ 2.กระบวนแบบดิกซีแลนด์(Dixieland Style) กำเนิดที่มหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อปี ค.ศ. 1917 โดยนักดนตรีอเมริกันผิวขาวเล่นเลียนแบบนิวออร์ลีนส์แจ๊ส ใช้ทรัมเป็ต คลาริเน็ตและทร็อมโบน เป็นเครื่องหลักของวง 3. กระบวนแบบซวิง (Swing Style) เกิดมาแทนที่ดิกซีแลนด์แจ๊สในช่วงปี ค.ศ.1930 โดยเติมแซกโซโฟนเข้าประสมวงด้วย มีนักดนตรีในวง จำนวน15 คน แนวของเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นได้รับการเรียบเรียงเสียงประสานและเขียนโน้ตลงแผ่นกระดาษโน้ตไว้ล่วงหน้า การด้นทำนองสดมีบ้างเล็กน้อยหรือเกือบไม่มี วงดนตรีแจ๊สกระบวนแบบซวิงใช้ในงานเต้นรำสโมสรเป็นสำคัญ วงสำคัญและมีชื่อเสียงก้องโลกคือวงของดุ๊ก เอลลิงตัน(Duke Ellington 1899-1974) และวงของเบนนี กูดแมน (Benny Goodman 1909 - )ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช มหาราช เคยร่วมวงบรรเลง 4.กระบวนแบบบีบ็อป (Bebop Style) เกิดในประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อปี ค.ศ.1940 ขึ้นมาแทนที่แบบซวิง เป็นวงขนาดใหญ่ที่กลับไปใช้การด้นทำนองสดให้มากขึ้นเพื่ออนุรักษ์ความเป็นดนตรีแจ๊สแบบดั้งเดิม มุ่งหมายใช้บรรเลงเพื่อการฟัง วงดนตรีสำคัญและมีชื่อเสียงก้องโลกในดนตรีแจ๊สกระบวนแบบบีบ็อปหรือบ็อปได้แก่วงของดิซซี กิลเลสปี(Dizzie Gillespie 1917- ) และ ชาร์ลี พาร์กเกอร์ (Charlie Parker 1920-1955) 5.กระบวนแบบคูลแจ๊ส (Cool Jazz Style) เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เพรอเกร๊สสีฟ แจ๊ส (Progressive Jazz) เกิดในแถบตะวันตกของประเทศสหรัฐอเมริกาช่วงปี ค.ศ. 1950 มีลักษณะเบา สงบและเยือกเย็น เน้นจังหวะน้อยกว่าแบบอื่น ใช้ประโยคเพลง ทำนองและเสียงประสานแบบเดียวกันกับดนตรีคลาสสิก วงคูลแจ๊สวงสำคัญและมีชื่อเสียงก้องโลกคือวงของไมล์ เดวิส (Mile Davis 1926- ) และวงของเดฟ บรูเบ็ก (Dave Blubeck 1920- ) 6.กระบวนแบบสังคีตลักษณ์อิสระ (Free-form Jazz Style) ก่อตั้งขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาช่วงปี ค.ศ. 1960 โดย ออร์เน็ตต์โคลแมน (Ornett Coleman 1930- ) และ จอห์น โคลเทรน (John Coltrane 1926- ) มีลักษณะด้นทำนองประสานเสียงกันอย่างซับซ้อนหลายแนวอิงอยู่กับทำนองเอกหลักทำนองเดียวกัน และใช้ระบบเสียงแบบไม่อิงมาตราเสียง(Atonallity อโทแน้ลิที)คือไม่มีเสียงใดเป็นเสียงศูนย์กลางของทำนอง 7.กระบวนแบบสายที่สาม(Third Stream Jazz Style) นักดนตรีแจ๊สชาวอเมริกันชื่อกูเทอร์ สกูลเลอร์(Guther Schuller 1925- )เป็นผู้ตั้งชื่อเรียกดนตรีแจ๊สกระบวนแบบนี้เมื่อปี ค.ศ. 1959 เป็นดนตรีแจ๊สที่สังคีตกวีดนตรีคลาสสิกนำเอาส่วนดีของดนตรีแจ๊สแบบดั้งเดิมเช่นเอาโมทีฟ(Motive)หรือทำนองเอกหลัก(Themeทีม)ของดนตรีแจ๊สมาใช้ประสมประสานกับส่วนดีของดนตรีคลาสสิก และนักดนตรีแจ๊สเองก็นำเอาหลักวิชาการเรียบเรียงเสียงประสานแบบดนตรีคลาสสิกมาใช้เรียบเรียงดนตรีแจ๊สด้วย สังคีตกวีคนสำคัญที่นิพนธ์ดนตรีคลาสสิกในลักษณะนี้มีเช่น ดาเรียส มิโย (Darius Milhaud 1892-1974)ชาวฝรั่งเศสอีกอร์ สตราวินสกี (Igor Stravinsky 1882-1971) ชาวรัสเซียนและอารอน คอปแลนด์ (Aaron Copland 1900-1990) ชาวอเมริกัน |
หมวดอักษร | คำศัพท์ | คำอ่าน | ภาษาต้นตอ | คำสะกด |
---|---|---|---|---|
J | Jazz rock / Fussion | จ๊าซ ร็อก / ฟิ้วเชิน | (อังกฤษ) | แจ๊สร็อก / ฟิวเชิน/ ฟิวชัน |
คำอธิบายดนตรีกระบวนแบบหนึ่งที่เอาเทคนิคการด้น ทำนองสด (Improvisatory อิมเพรอไว้เซอทรี) ของดนตรีแจ๊สประสมประสานกับลักษณะจังหวะ (Rhythm รีเทิม) ของดนตรีร็อก |
หมวดอักษร | คำศัพท์ | คำอ่าน | ภาษาต้นตอ | คำสะกด |
---|---|---|---|---|
J | Jazz | จ๊าซ | (อังกฤษ) | จ๊าซ |
คำอธิบายดนตรีแจ๊ส เพลงแจ๊ส (ถ้าเขียนให้ถูกต้องตามหลักการเขียนคำทับศัพท์ของราชบัณฑิตยสถานต้องเขียนว่า แจ๊ซ เพราะตัวสะกดเป็น Z ) กระบวนแบบหนึ่งของดนตรีที่ก่อตั้งขึ้นโดยชาวอเมริกันผิวดำ(Afro-Americanแอ๊ฟเฟรอ – อเมอริคัน)ที่ตำบลสตอรีวิลล์เมืองนิวออร์ลีนส์ รัฐหลุยเซียนา ประเทศสหรัฐอเมริกา ช่วงปี ค.ศ. 1950มีลักษณะจังหวะแบบกระแทกกระทั้นสร้างทำนองด้วยวิธีด้น พัฒนาเป็นหลายกระบวนแบบมีดิกซีแลนด์หรือนิวออร์ลีนส์สไตล์/ชิคาโกสไตล์ / เทิร์ดสตรีม / ซวิง /บีบ็อบ/โปรเกรสเชิ่นแจ๊ส / แจ๊สร็อกหรือฟัสเชินเป็นต้น บุคลิกสำคัญของดนตรีแจ๊ส คือ: 1.จังหวะเคาะ(Beatบีต)เน้นหนัก และมีสำเนียงกระเด้งกระดอน 2.ลักษณะจังหวะ(Rhythmรีเทิม) เป็นจังหวะขืนหรือขัด(Syncopationซินโคเป๊เชิน) คือลงจังหวะหนักตรงที่ควรเบา เป็นจังหวะเบาตรงที่ควรหนัก 3.ผู้บรรเลงด้นทำนองสด(Improvisationอิมเพรอไวเซเชิน) ด้วยการใช้สังคีตปฎิภาณเฉพาะตัวประดิษฐ์ทำนองใหม่ที่อิงอยู่กับทำนองเอกหลักขึ้นบรรเลงร่วมวงได้ในทันทีทันใดในขณะกำลังบรรเลง 4.ใช้มาตราเสียงไดอาโทนิกที่มีบลูส์โน้ต(Blue notes) คือลดเสียงขั้นที่ 3 และ 7 ลงครึ่งเสียงในการแต่งทำนองเพลง บางเพลงลดเสียงขั้นที่ 5 ด้วย ทำให้ทำนองเพลงมีสำเนียงแจ๋นๆแปลกหูออกไปจากสำเนียงของเพลงกระบวนแบบอื่น รากเหง้าของดนตรีแจ๊ส รากเหง้าของดนตรีแจ๊สคือ เพลงบลูส์ (Blues) และเพลงกอสเปล (Gospel เพลงสวดที่มีเนื้อหาจากคัมภีร์ไบเบิลฉบับใหม่) ซึ่งเป็นดนตรีของชาวอาฟริกันอเมริกัน (African American music) ผสมกับดนตรีของชาวยุโรปบางส่วน เช่นดนตรีแบบวงโยธวาฑิตของชาวฝรั่งเศส เพลงพื้นบ้านของชาวสเปน และเพลงประกอบการเต้นรำแบบบอลรูมของชาวยุโรป เป็นต้น ทำนองเพลง แจ๊สรุ่นแรกๆไม่ได้บันทึกไว้เป็นตัวโน้ต ถ่ายทอดกันด้วยการฟังแล้วจำ การบรรเลงแต่ละครั้งอาจผิดเพี้ยนไปจากทำนองต้นตอ ในช่วงปี ค.ศ. 1920 นักดนตรีแจ๊สหลายคนมุ่งเข้าเมืองใหญ่เช่นนคร ชิคาโกเพื่อหางานรับจ้างแสดง ดนตรีแจ๊สของนักดนตรีเหล่านั้นมีชื่อเรียกว่านิวออร์ลีนส์แจ๊ส หรือดิกซีแลนด์แจ๊ส ซึ่งปัจจุบันถือว่าเป็นดนตรีแจ๊สต้นแบบ (Traditional or trad jazz ทราดิ๊ชชาเนิล หรือ ทร้าด แจ๊ซ) ช่วงปี ค.ศ. 1930 วงดนตรีแจ๊สพัฒนาขนาดเป็นวงใหญ่สำหรับใช้บรรเลงประกอบการเต้นรำแบบบอลรูมในห้องขนาดใหญ่ที่บรรจุนักเต้นรำได้จำนวนมาก เรียกชื่อว่าวงซวิง(Swing band) หรือวงบิ๊กแบนด์(Big band) มีกระบวนแบบการบรรเลงที่ง่ายและนุ่มนวลกว่าดนตรีแจ๊สต้นแบบและเรียกเพลงที่บรรเลงว่าเพลงซวิง ถัดจากนั้นมานักดนตรีแจ๊สบางกลุ่มเห็นว่าเพลงซวิงอืดอาดน่าเบื่อจึงพัฒนาส่วนจังหวะและส่วนเสียงประสานเสียใหม่ให้มีพลังเสียงดัง เผ็ดร้อนและเร้าอารมณ์ เรียกว่าเป็นดนตรีแจ๊สในกระบวนแบบบีบ็อบ(Bebob) หรือ โมเดิร์นแจ๊ส(Modern jazz) ครั้นถึงช่วงปี ค.ศ. 1940 มีนักดนตรีแจ๊สอีกกลุ่มหนึ่งพัฒนาดนตรีแจ๊สอีกกระบวนแบบหนึ่งขึ้นมาเรียกว่าคูลแจ๊ส(Cool jazz)ซึ่งมีลักษณะสุภาพนุ่มนวล กลับไปใช้แบบรูปเดิมและลดอารมณ์รุนแรงให้น้อยกว่าบีบ็อบ ช่วงปี ค.ศ. 1950 เป็นต้นมาได้เกิดดนตรีแจ๊สอีกกระบวนแบบหนึ่งขึ้นที่รัฐแคลิฟฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เรียกชื่อว่า เวสต์ โคสต์แจ๊ส(West Coast jazz แจ๊สชายฝั่งทะเลตะวันตก) ซึ่งมีลักษณะผ่อนคลายลงจากบีบ็อบ และหลังจากนั้นได้เกิดดนตรีแจ๊สแบบอิสระซึ่งละทิ้งกฎข้อบังคับต่างๆของสังคีตลักษณ์เดิมอย่างสิ้นเชิง เรียกชื่อว่าฟรีแจ๊ส(Free jazz) |